อุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ มีอะไรบ้าง?

ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ หรือ Fire Alarm Systems คือ ระบบที่มีไว้สำหรับแจ้งเตือน เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้น โดยจะใช้อุปกรณ์ตรวจจับชนิดต่างๆ ที่มีการติดตั้งไปตามพื้นที่หรือติดตั้งตามความเหมาะสม ในบทความนี้เราจะพาทุกคนมาดูกันว่า อุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ที่สำคัญๆ มีอะไรบ้าง รวมถึงหลักการทำงานของระบบ fire alarm ด้วย

อุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้หรือส่วนประกอบของระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้มีด้วยกัน 5 ส่วน หลักๆ ได้แก่

  1. ตู้ควบคุมสัญญาณ (Fire Alarm Control Panel)

คือ ชุดควบคุมการทำงานของระบบซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการสามารถแสดงผลการตอบสนองของอุปกรณ์ตรวจจับและส่งสัญญาณแจ้งเหตุไปตามจุดต่างๆ ที่ออกแบบไว้ โดยทั่วไปแล้วตู้ควบคุมจะมีส่วนประกอบสำคัญๆ ได้แก่ ชุดอุปกรณ์เริ่มสัญญาณ ชุดจ่ายไฟ และชุดสำรองไฟ

  1. อุปกรณ์เริ่มสัญญาณ (Initiating Devices)

อุปกรณ์เริ่มสัญญาณ คือ อุปกรณ์ที่ตรวจจับการเกิดเหตุเพลิงไหม้ภายในวงจรการควบคุม โดยสามารถตรวจจับได้ทั้งควัน เปลวไฟและความร้อน แต่ก็ต้องเลือกให้เหมาะสมกับพื้นที่ในแต่ละพื้นที่ด้วย อุปกรณ์ตรวจจับจะทำหน้าที่ตรวจจับเหตุเพลิงไหม้และส่งสัญญาณไปยังตู้ควบคุม เพื่อประมวลผล อุปกรณ์เริ่มสัญญาณแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ อุปกรณ์เริ่มสัญญาณโดยอัตโนมัติ (Detectors) และอุปกรณ์เริ่มสัญญาณแบบมือดึง (Manual Pull Station)

3.อุปกรณ์แจ้งสัญญาณ (Notification Appliance Devices)

คือ อุปกรณ์เสียงหรือแสง เพื่อแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ทำให้ทุกคนรับทราบโดยเร็วจนสามารถอพยพบุคคลที่อยู่บริเวณนั้นออกมาได้ทัน สัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้มีด้วยกันหลายชนิด เช่น เสียงอิเล็กทรอนิกส์ กระดิ่ง เสียงประกาศจากลำโพง หรืออาจแจ้งเป็นแสงไฟกะพริบ ฯลฯ สำหรับเสียงจะต้องมีระดับความดังตามมาตรฐานกำหนด

4.อุปกรณ์แยกแจ้งสัญญาณ (Graphic Annunciator)

อุปกรณ์นี้ มีไว้เพื่อดูจุดเกิดเหตุภายในอาคารทำให้สามารถทราบได้อย่างรวดเร็วและเข้าไประงับเหตุได้อย่างตรงจุด อุปกรณ์แยกสัญญาณ นิยมแสดงแผนผังของอาคารนั้นๆ และโซนหรือจุดของอุปกรณ์ตรวจจับที่ออกแบบไว้

5.อุปกรณ์เสริม (Auxiliary Devices)

อุปกรณ์เสริมในระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ทำหน้าที่รับส่งสัญญาณไปยังระบบอื่นๆ ของอาคาร เช่น การปิดพัดลมในระบบปรับอากาศ การควบคุมปิด-เปิดประตูหนีไฟ ระบบบังคับลิฟต์ลงมาที่ชั้นล่าง ฯลฯ

หลักการทำงานของระบบ fire alarm หรือ ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้

เมื่ออุปกรณ์ตรวจจับสิ่งผิดปกติได้ เช่น ควัน ความร้อน หรือเปลวไฟ จะส่งสัญญาณมาที่ตู้ควบคุม จากนั้นระบบจะแจ้งเหตุเพลิงไหม้ผ่านรูปแบบของแสงหรือเสียง ทำให้เราสามารถรับรู้และแก้ไขได้ ป้องกันไม่ให้ไฟไหม้ลุกลาม สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน สิ่งของ และลดการสูญเสียชีวิตได้ด้วย

เมื่อได้รู้เกี่ยวกับอุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้พร้อมทั้งหลักการการทำงานเบื้องต้นของระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ไปแล้ว รู้หรือไม่ว่าระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ยังแบ่งออกเป็น 2 แบบได้แก่

  1. Conventional

ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ที่เดินสายชุดเดียวกับตู้ควบคุม  (Fire Alarm Control Panel ) โดยตู้ Control Panel จะแสดงสัญญาณแจ้งเตือนขึ้น เมื่ออุปกรณ์ใดถูกกระตุ้น ซึ่งระบบนี้มีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งไม่แพงเหมาะกับสถานที่ขนาดเล็ก แต่ข้อเสียคือ เมื่ออุปกรณ์ใดส่งสัญญาณไฟไหม้ ตู้ Control Panel จะแสดงว่ามีสัญญาณแจ้งเตือนไฟไหม้เกิดขึ้น แต่จะไม่สามารถระบุตำแหน่งได้

  1. Addressable System

เป็นระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ที่ทันสมัยมากที่สุดและนิยมใช้ในปัจจุบัน ส่วนประกอบต่างๆ จะถูกระบุอยู่ที่ Address เมื่ออุปกรณ์ทำการแจ้งเตือนไฟไหม้แล้ว ระบบจะสามารถระบุได้อย่างรวดเร็วว่าเกิดปัญหาขึ้นที่บริเวณใดหรือจุดใด ช่วยให้ประหยัดเวลาในการค้นหาและสามารถช่วยเหลือหรืออพยพคนได้อย่างทันท่วงที

ทั้งหมดนี้ ก็คือ อุปกรณ์แจ้งเหตุเพลิงไหม้ที่สำคัญและหลักการทำงานของระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้ เชื่อว่าสาระน่ารู้ต่างๆ เหล่านี้จะมีประโยชน์สำหรับทุกคนเป็นอย่างมาก

บริษัท Engineersoft บริการตรวจสอบระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้

ติดต่อเราได้ที่ : 093-936 0870 , https://lin.ee/z776HOw

บริการอื่นๆของ Engineersoft