ไฟช็อตกับไฟดูดต่างกันอย่างไร เราสามารถป้องกันอันตรายจากการทำงานกับไฟฟ้าได้อย่างไร

ไฟช็อตกับไฟดูดต่างกันอย่างไร

เมื่อพูดถึงไฟฟ้าคงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนต้องใช้ไฟฟ้าในการใช้ชีวิตประจำวันเพื่ออำนวยความสะดวกไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆเช่นพัดลมตู้เย็นโทรทัศน์เป็นต้นแต่ไฟฟ้านอกจากจะมีประโยชน์อย่างมากแล้วหากผู้ใช้ใช้อย่างไม่ถูกวิธีและไม่มีการตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆก็อาจทำให้เกิดโทษได้เช่นกันทุกคนมีโอกาสได้รับอันตรายจากไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปอย่างพวกเราหรือผู้ที่ปฏิบัติงานกับไฟฟ้าโดยตรง


  1. การทำงานกับไฟฟ้า คืออะไร 

การทำงานกับไฟฟ้า คือ งานที่ทำเกี่ยวกับการติดตั้ง ตรวจสอบ ทดสอบ ซ่อมแซม บำรุงรักษา หรืองาน

อื่นในลักษณะเดียวกันที่ทำกับระบบไฟฟ้า บริภัณฑ์ไฟฟ้า หรือสายไฟฟ้า


  1. อันตรายจากไฟฟ้า

ผู้ที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า มีโอกาสที่จะได้รับอันตรายจากไฟฟ้า หากผู้ปฏิบัติงาน ไม่มีความรู้ 

ความเข้าใจ ในหน้าที่ที่ทำ ซึ่งอันตรายส่วนใหญ่ที่พบได้จากการทำงานกับไฟฟ้า ได้แก่ ไฟช็อตและไฟดูด ซึ่ง

ทั้ง 2 ประเภท มีอันตรายด้วยกันทั้งนั้น แต่ไฟช็อตกับไฟดูดนั้นแตกต่างกันอย่างไร เราลองมาดูกัน


  1. ไฟช็อตกับไฟดูดต่างกันอย่างไร

  • ไฟช็อต หรือไฟฟ้าลัดวงจร เกิดจากการโอนกระแสไฟฟ้าจากสายไฟเส้นหนึ่งไปยังเส้นอื่นๆ โดยที่ไม่ได้ผ่านอุปกรณ์โหลด หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าใดๆ จนเกิดความร้อนสูง และอาจทำให้เกิดประกายไฟและไฟไหม้ได้ สาเหตุส่วนใหญ่ที่พบคือ ฉนวนของตัวสายไฟชำรุด รวมถึงการเดินสายไฟที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งหากมีไฟฟ้าลัดวงจรเกิดขึ้น อาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้อีกด้วย
  • ไฟดูด มีต้นเหตุมาจากไฟรั่ว เกิดขึ้นเมื่อร่างกายไปสัมผัสส่วนที่มีไฟฟ้าหรือสัมผัสกับสายไฟที่มีการรั่วทำให้กระแสไฟฟ้าไหลผ่านร่างกายและลงสู่พื้นดิน อาจส่งผลให้กล้ามเนื้อเกร็ง หัวใจทำงานผิดจังหวะ และเต้นอ่อนลงจนหยุดเต้นและเสียชีวิตในที่สุดสาเหตุของไฟดูดเกิดขึ้นได้จากหลายกรณี เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าชำรุดทำให้มีกระแสไฟฟ้ารั่ว

ซึ่งอันตรายจากไฟช็อตและไฟดูดถึงแม้ว่าจะมีอันตรายที่แตกต่างกันแต่ก็ส่งผลให้เกิดความสูญเสียได้เช่นกันเพราะหากมีไฟช็อตเกิดขึ้นหรือที่เราเรียกว่าไฟฟ้าลัดวงจรส่งผลให้เกิดไฟไหม้ได้ซึ่งเมื่อเกิดไฟไหม้ขึ้นแน่นอนว่าย่อมมีความเสียหายตามมาไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินหรือชีวิตก็ตามและหากเป็นอันตรายจากไฟดูดส่งผลต่อสุขภาพของผู้ที่ถูกไฟดูดโดยตรงซึ่งจะรุนแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กระแสไฟด้วย


  1. อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลในการทำงานกับไฟฟ้า

ในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า ผู้ปฏิบัติงานต้องสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลให้ครบถ้วนเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในขณะปฏิบัติงาน ซึ่งอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยในการทำงานส่วนบุคคล เช่น

  • ถุงมือหนังที่สวมกับถุงมือยาง ต้องยาวหุ้มถึงข้อมือและคงทนต่อการฉีกขาดได้ดี และการใช้ถุงมือยางต้องใช้ร่วมกับถุงมือหนังทุกครั้งที่ปฏิบัติงาน
  • ถุงมือยางป้องกันไฟฟ้า ต้องสวมกับนิ้วมือได้ทุกนิ้ว
  • แขนเสื้อยาง
  • หมวกนิรภัย
  • รองเท้าพื้นยางหุ้มข้อชนิดมีส้นหรือรองเท้าพื้นยางหุ้มส้นในกรณีที่ต้องปฏิบัติงานบนที่สูงตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไป ต้องใช้สายหรือเชือกช่วยชีวิตและเข็มขัดนิรภัยพร้อมอุปกรณ์ และหมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐานด้วย และหากทำงานที่ใกล้หรือเหนือน้ำต้องให้ผู้ปฏิบัติงานสวมใส่ชูชีพกันจมน้ำด้วย แต่หากอุปกรณ์นั้นใส่แล้วทำให้เสี่ยงต่ออันตรายมากกว่าเดิม ให้หาวิธีอื่นที่ปลอดภัยแทน

  1. การทำงานกับไฟฟ้าอย่างปลอดภัย

การปฏิบัติงานกับไฟฟ้าอย่างปลอดภัยมีอยู่หลายวิธีด้วยกันนอกจากการกำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานต้องสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามที่กำหนดไว้ในข้อ 4 แล้วยังจำเป็นต้องมีมาตรการอื่นร่วมด้วยเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดต่อตัวผู้ปฏิบัติงานเพราะอันตรายจากไฟฟ้าอาจทำให้ผู้ปฏิบัติงานเสียชีวิตได้โดยมาตรการด้านความปลอดภัยในการทำงานกับไฟฟ้ามีอยู่หลายวิธีด้วยกันเช่น 

  • ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้า ต้องผ่านการอบรมให้มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะที่จำเป็นในการทำงานอย่างปลอดภัยตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
  • การเลือกซื้อบริภัณฑ์ไฟฟ้า สายไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับไฟฟ้า ต้องได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด
  • การตรวจสอบระบบไฟฟ้าประจำปีตามกฎหมาย
  • การจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการปฏิบัติงานเกี่ยวกับไฟฟ้าอย่างปลอดภัย และต้องควบคุมให้ผู้ปฏิบัติงาน ทำตามที่กำหนด ตลอดระยะเวลาที่ทำงานด้วย
  • การกำหนดให้ใช้ระบบ Logout-Tagout ในการปฏิบัติงานกับไฟฟ้า

ซึ่งที่กล่าวมาเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น โดยมาตรการด้านความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า ถูกระบุไว้ในกฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้า พ.ศ. 2558 

สรุป

การปฏิบัติงานกับไฟฟ้าอย่างปลอดภัย นอกจากผู้ปฏิบัติงานต้องผ่านการอบรมเพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในงานที่ตนทำแล้ว ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยอื่นที่กำหนดขึ้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับตัวผู้ปฏิบัติงานเอง และหากพบว่า ระบบไฟฟ้าอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมใช้งาน ต้องรีบแก้ไขโดยทันที โดยผู้ที่มีความรู้ ความสามารถเฉพาะด้าน

 

Engineer Soft บริการตรวจสอบระบบไฟฟ้า บริการรับ PM ระบบไฟฟ้า ตรวจหม้อแปลงไฟฟ้า โดยทีมงานวิศวกรมืออาชีพประสบการณ์ตรงมากกว่า 10 ปี ได้รับมาตรฐานการรับรอง ISO 9001 พร้อมออกรายงานรับรองการตรวจสอบระบบไฟฟ้าให้หลังจบการบริการ